http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,992,653
Page Views16,300,876
« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

มรดกล้ำค่า วัดบันไดทอง เพชรบุรี โดยเอื้อยนาง เรื่องและภาพ

มรดกล้ำค่า  วัดบันไดทอง  เพชรบุรี  โดยเอื้อยนาง  เรื่องและภาพ

มรดกล้ำค่า  วัดบันไดทอง  เพชรบุรี

เอื้อยนาง

   เสียดายผู้เขียนไม่มีความรู้เรื่องการช่างต่าง ๆ  ไม่รู้ว่าเครื่องเครา ขื่อ แป ของอาคารต่าง ๆ ในทางช่างเขาเรียกเป็นอะไร  เพราะภาษาไทยเรานั้นรุ่มรวย  มีศัพท์เฉพาะ  มีเชิง  มีชั้น มีสร้อยทางภาษาเอาไว้พูดจาเรียกขานต่างกลุ่ม  ต่างงานออกไป  ทำให้ผู้ไม่ใส่ใจจริง ๆ  หรือคุ้นชินในงานนั้นเรียกไม่ถูก

            กระนั้นก็ยังตลึงตะลานละ  เพียงเมื่อสายตาได้แลเห็น  ความอลังการแห่งงานไม้ในหมู่เรือนล้ำค่า  ที่วัดบันไดทอง   หมู่ ๕ ต.บ้านกุ่ม  เมืองเพชรบุรี  ห่างจากตัวจังหวัดไปเพียง ๓.๕ กิโลเมตร

                  

                                                                     วัดบรรไดทอง,เพชรบุรี

           
วัดบันไดทอง  เป็นวัดเก่าแก่สร้างในสมัยอยุธยา  ประกาศเป็นวัดในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา ปี พ.ศ. ๒๒๗๕   จึงเป็นไปได้ว่า  ก่อนกรุงศรีอยุธยาถูกไฟเผาผลาญนั้น  วัดแห่งนี้และชุมชนใกล้เคียงคงเจริญรุ่งเรืองอยู่แล้ว  และอยู่สืบเนื่องตลอดเรื่อยมา

            โดยทั่วไป  ชุมชนต่าง ๆ ในแถบเพชรบุรีจะสัญจรไปมาหาสู่ค้าขายโดยใช้เรือ จากเรือแจว เรือพายจนกลายมาเป็นเรือที่มีเครื่องยนต์  มาจนถนนหนทางถักทอทอดโค้งผ่านคุ้งแควนี่หรอกเรือจึงค่อย ๆ หดหายแม้จะยังมีอยู่บ้าง  แต่ก็เท่าที่จำเป็นเท่านั้น  และมีไม่น้อยที่เรือปรับเปลี่ยนบทบาท   ไปเป็นเรือนำชมหิ่งห้อยที่หยดย้อยตามต้นลำพูชายฝั่งแม่น้ำเพชรบุรี  และลำคลองสาขา

                      

           
วัดบันไดทองตั้งอยู่ริมฝั่งลำน้ำเพชรบุรี   ตรงที่เป็นโค้งตวัด (หมายถึงคุ้งน้ำที่ถูก

กระแสเชี่ยวกรากแห่งลำน้ำตวัดซัดเซาะตลิ่ง)  ที่มีวังน้ำวน  ซึ่งในฤดูน้ำนองกระแสน้ำอันเชี่ยวกรากทำให้เป็นอันตรายในการเดินเรือ  เพราะเกิดเรือล่มเป็นประจำตรงบริเวณนี้  จึงได้มีการขุดคลองลัดผ่านหน้าวัดบันไดทองในช่วงรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และได้ชื่อว่า คลองขุด 

            ธรรมชาติของแม่น้ำเพชรบุรีนั้นมีคุ้ง มีโค้งตวัดซัดเซาะตลิ่งพังทลายอยู่หลายแห่ง ชาวบ้านเรียกคุ้งแบบนี้ว่า น้ำหัก          แต่ปัจจุบัน หลังจากมีเขื่อนแก่งกระจานกั้นลำน้ำแล้วปัญหาน้ำเชี่ยวแบบโค้งตวัดจึงค่อยลดลง

            ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์  ท่านกวีเอกสุนทรภู่ได้นั่งเรือผ่านหน้าวัด  ท่านบรรยายไว้ในนิราศเมืองเพชรของท่านว่า 


                     
           
ถึงอารามนามที่กุฎีทอง                      ดูเรืองรองรุ่งโรจน์โบสถ์วิหาร

            ตรงอารามนามท่าทำตะพาน               นมัสการเกินมาในวารี

            ถึงคุ้งเคี้ยวเลี้ยวลดชื่อคดอ้อย             ตะวันคล้อยคล้ำฟ้าในราศี

            ค่อยคล่องแคล่วแจวเรือในพริบพลี      ประทับที่หน้าพลับพลาชัย

เพชรบุรีเป็นเมืองเก่าแก่  ตามตำนานนครศรีธรรมราชปรากฏพระกุมารในนครแห่งนั้นยกพลมาตั้งอยู่ ณ เพชรบุรี  สร้างสาชุมชนบ้านเมืองจนเติบโตรุ่งเรืองกลายเป็นเมืองหลวงมีกษัตริย์ปกครองต่อมา  ตำนานกรุงเก่ากล่าวถึงสมัยพระเจ้าอู่ทองว่าพระอินทราชาได้มาซ่อมแปลงเมืองเพชรบุรี  ในสมัยอาณาจักรสุโขทัยรุ่งเรืองนั้นเพชรบุรีเป็นอาณาจักรเล็ก ๆ ขึ้นตรงต่อสุโขทัย  โดยในจารึกพ่อขุนรามคำแหงกล่าวถึงขอบเขตอาณาจักรของพระองค์  เพชรบุรี  ราชบุรี  แพรก ฯลฯ อยู่ในอาณาเขตเบื้องหัวนอน


                                   

           พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทรงโปรดปรานเมืองเพชรบุรีมาแต่ครั้งยังทรงผนวชอยู่  ทรงสร้างพระราชวัง  วัด  และพระเจดีย์ใหญ่ขึ้นบนเขาเตี้ย ๆ ใกล้ตัวเมือง พระทานนามว่า 
พระนครคีรี

ในฐานะคนไทย  ที่ภูมิอกภูมิในศิลปวัฒนธรรมเก่าแก่ เอกลักษณ์ไทย  เราได้รับรู้ความรุ่งเรืองของเมืองหลวงเก่าอยุธยา  แต่กรุงศรีที่เราได้เห็นในบริเวณที่เป็นเกาะเมืองเก่าทำให้เราพยายามจินตนาการถึง  บ้านเรือน  วัดวา  และพระราชวังเมื่อครั้งยังรุ่งเรือง   บ่อยครั้งที่เราได้แต่ภาพในจินตนาการ  มันจึงรางๆเลือนๆ ครั้นได้เห็นศาลาเรือนไม้วิจิตรอลังการในวัดนี้ทำให้ภาพนั้นแจ่มชัดขึ้นมาทันที  ลวดลายงดงาม อ่อนช้อยด้วยฝีมือช่างที่บรรจงสร้างส่วนที่ประดับประดา  และความโอ่โถงภายในศาลาทำให้ตลึงตะลานยากจะบรรยาย 



           อาศัยว่าหลานชาย (พี่แทน)  ได้มาบวชเณรที่วัดบันไดทองเมื่อเมษาที่แล้ว ครั้นวันวิสาขบูชาปีนี้ (๒๕๕๓)  มีวันหยุดติดต่อกันสามวัน  เราจึงได้โอกาสมาทำบุญที่วัดบันไดทองได้รับความกรุณาจากพระอาจารย์ ประเสริฐ สุขวัฒโน  เลขานุการเจ้าคณะตำบลบ้านกุ่ม-ธงชัย  จึงได้เรียนรู้ความยิ่งใหญ่อลังการของมรดกล้ำค่านี้   ในเวลาอันจำกัดเพราะใกล้เพลเรายังมีโอกาสเข้าชมภาพเขียนประดับผนังภายในโบสถ์ด้วย


                                  
           วัดบันไดทอง  กรมศิลปากรก็มาแล ๆ จะขอขึ้นทะเบียนอยู่   แต่ที่จริงวัดโชคดีที่มีพระนักพัฒนา รู้คุณค่าของมรดกอันล้ำค่าจากบรรพชน   มาเป็นพระที่นี่  และเป็นเจ้าอาวาสด้วย ท่านคือ พระครูสิริพัชรานุโยค (บุญชู  อกิญฺจโน) เจ้าคณะตำบลบ้านกุ่ม และตำบลธงชัย  เมือง  เพชรบุรี

วัดได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ด้วยความวิริอุตสาหะของท่านและพระลูกวัดมาหลายปีกว่าจะสวยงามอย่างที่เห็นในปัจจุบัน  โดยได้อนุรักษ์แบบแผนในการวางผังกุฏิสงฆ์แบบโบราณ  อันประกอบด้วยหอสวดมนตร์  หอฉัน  โรงครัว  และกุฏิสงฆ์  เพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาของอนุชนรุ่นหลัง


                      

          นอกจากนั้นท่านยังได้บูรณะอุโบสถ  โดยรักษารูปแบบเดิมเอาไว้อย่างสวยงาม  มั่นคงขึ้น  อาศัยแรงงานจากพระในวัด

บูรณะเจดีย์ประธาน  ตลอดจนหอระฆัง  มณฑปจัตุรมุข

 วิหารพระพุทธบาท  รูปทรงแบบสถาปัตยกรรมไทยสมัยอยุธยาตอนต้น  ฐานตรง  หลังคาซ้อนเชิงชายยื่นออกมา  แต่ไม่มีคันทวยรองรับ



                        

          นอกจากนั้นท่านพระครูสิริพัชรานุโยคยังเป็นผู้เห็นความสำคัญด้านการศึกษาของเยาวชน และพระเณร ท่านได้สร้างหอปริยัติธรรม  และห้องสมุดประชาชน ใช้รูปแบบอาคารประเพณี มีช่อฟ้า ใบระกา และหัวนาค หน้าบันเป็นลายปูนปั้น ลอยตัว)พระนารายณ์ทรงครุฑ  สร้างศาลาพักร้อน  ศาลาอเนกประสงค์ และอื่น ๆ

ผู้เขียน พร้อมชาวคณะ คุณยายลำดวน และลูกหลานรู้สึกขอบพระคุณท่านผู้ใจดีให้โอกาส  ให้ข้อมูลในการเผยแพร่ครั้งนี้เป็นอย่างสูงค่ะ

๐๐๐๐๐๐

 

 

           

           

 

Tags : ท่องแดนแผ่นดินธรรม เอื้อยนาง เพชรบุรี

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view