http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม14,022,843
Page Views16,332,421
« May 2024»
SMTWTFS
   1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

สิบสองปันนาหงส์ฟ้าพญามังกร ตอน2. เขตปกครองตนเองชนชาติไท สิบสองปันนา โดยอึ้งเข่งสุง-เรื่อง//ธงชัย เปาอินทร์-ภาพ

สิบสองปันนาหงส์ฟ้าพญามังกร ตอน2. เขตปกครองตนเองชนชาติไท  สิบสองปันนา โดยอึ้งเข่งสุง-เรื่อง//ธงชัย เปาอินทร์-ภาพ

                                                     สิบสองปันนาหงส์ฟ้าพญามังกร

                         ตอน2. เขตปกครองตนเองชนชาติไท  สิบสองปันนา

                                                                      โดยอึ้งเข่งสุง-เรื่อง//ธงชัย เปาอินทร์-ภาพ

               เมื่อเดินทางมาถึงเมืองสิบสองปันนา  เย็นย่ำสนธยาพอดี หลังรับประทานอาหารค่ำแล้วก็เข้าพักผ่อนนอนห้องแอร์สบายๆ พอตื่นเช้าแล้วรีบลงไปรับประทานข้าวต้ม กาแฟ ชา ฯลฯ พอว่าอิ่มก็เดินเล่นชมเมืองทั่วไป สิ่งที่ได้เห็นยามเช้าเป็นหญิงวัยกลางคนสองคน สวมใส่เสื้อผ้าเหมือนกับผ้านุ่ง มุ่นมวยผมไว้บนศีรษะ กางร่ม(จอง)เดินตามกัน ผมยิ้มให้ก่อน คุณน้าทั้งสองก็ยิ้มตอบด้วยความน่ารัก ท่าทีน่าจะเดินไปตลาด 

 

             

                                               หญิงชาวไทลื้อ..สวมเสื้อผ้าชุดพื้นบ้านไทลื้อ

               ผมเดินไปริมถนนหน้าโรงแรม ได้เห็นกลองยาวปักอยู่ตามไหล่ถนน อีกด้านเป็นเครื่องปั้นดินเผาขนาดใหญ่ ลวดลายเหมือนเครื่องปั้นดินเผาในเมืองไทย  ผมเหลียวมองไปรอบๆตัวจึงได้เห็นว่า อาคารสิ่งก่อสร้างแม้ว่าจะเป็นตึกรามขนาดใหญ่ๆ หรืออาคารพานิชย์สูงลิ่วก็ตกแต่งด้วยหลังคาหน้าจั่วที่มีหัวหงส์เป็นจั่ว หรือไม่ก็มีนกยูงรำแพนหางอยู่กลางหน้าบันของจั่ว ซึ่งล้วนเป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่าไทลื้อทั้งสิ้น     

                                   โคมไฟประดับแบบกลองยาวและเครื่องปั้นดินเผาเหมือนบ้านเรา

               อย่างว่า มาเที่ยวทั้งทีถ้าไม่ทำการบ้านมาเลยก็เชยตาย ผมจึงรู้ว่า ในมณฑลยูนนานหรือหยุนหนาน อันเป็นมณฑลใต้สุดของประเทศจีน  มีชายแดนติดกับประเทศเมียนมาร์ และประเทศลาว มณฑลนี้แบ่งการปกครองออกเป็น 8 เมือง 8 เขตปกครองตนเองของชนเผ่า

                เขตปกครองตนเองชนชาติไท สิบสองปันนา (Xishuangbanna) มีพื้นที่ 19,582.45 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน มีแม่น้ำโขงไหลผ่านกลางเมือง เหมือนว่าเป็นสายเลือดใหญ่ของชาวสิบสองปันนา ประชากรทั้งหมด 850,000 คน  ส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าไทลื้อ  รองลงไปเป็นชาวฮั่นหรือคนจีน ลำดับที่ 3 เป็นชนเผ่าอาข่าหรืออีก้อในบ้านเรา (อีก 9 ชนเผ่าได้แก่ ยี่  ลาหู่  ปะหล่อง  จินัว  อิ้วเมี่ยน(เย้า) ม้ง(มองโกล) ไป๋  หุย  ว้า  จ้วง  และกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย รวมๆ ก็ 13 เผ่าหลักๆ) 

                   แสงไฟในราตรีที่สิบสองปันนา                                    ภาพวาดไทลื้อโบราณ

                ด้วยเหตุนี้เอง ในเขตการปกครองตนเองชนชาติไท สิบสองปันนา ชาวไทลื้อจึงได้รับสิทธิพิเศษในการกำหนดแนวทางการปกครองตนเอง พูดง่ายๆ ประธานการปกครองเขต หรือผู้ว่าการเมือง สิบสองปันนา ต้องเป็นคนไทลื้อเท่านั้น นอกจากนั้นยังให้สิทธิพิเศษคือมีลูกได้ 2 คน ส่วนคนจีนนั้นให้มีได้เพียง 1 คน เท่านั้น  และทางการส่งเสริมให้ชนเผ่าไทลื้อสร้างบ้านด้วยศิลปะและวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมเป็นบ้านชั้นเดียวใต้ถุนสูง รูปทรงหลังคาเอกลักษณ์เฉพาะ  แม้แต่ในตัวเมืองตามหลังคาและลวดลายที่ใช้ตกแต่งอาคารสิ่งก่อสร้างก็ยังอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมชนเผ่าได้อย่างโดดเด่น

                                 บ้านไทลื้อที่ทางราชการสนับสนุนให้อนุรักษ์ไว้(ช่วยออกเงินให้)

               ส่วนวัฒนธรรมด้านเสื้อผ้าอาภรณ์ ทางการเน้นเลยว่าให้สถานที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหรือมัคคุเทศก์นำเที่ยวสวมใส่ชุดไทลื้อ หลากสีสันครับ สวยงามมาก  ไม่ว่าหญิงที่แต่งจะเป็นชนเผ่าไทลื้อหรือไม่ก็ตาม ส่วนผมดำสลวยนั้นนิยมมุ่นเป็นมวยไว้บนศีรษะ ปักด้วยปิ่นหรือหวี ให้ความรู้สึกเหมือนเดินอยู่แถวๆเชียงราย เชียงใหม่ ยังไงก็ยังงั้นเชียว ดูแล้วไม่รู้สึกคิดถึงบ้าน ก็ที่นี่เหมือนว่ามาเยี่ยมบ้านญาติพี่น้องแท้ๆเชียว

                                    ภาพปูนปั้นที่สื่อความหมายถึงคำว่า ชนเผ่าไท โดยแท้

               นอกจากมีศิลปะวัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตและความเชื่อเป็นของตนเองแล้ว ไทลื้อยังมีภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตนเอง(ในอดีต)  ซึ่งพวกเราชาวไทยที่ไปท่องเที่ยวเมืองเชียงรุ้งจึงสามารถสื่อสารกันได้ด้วยภาษาเหนือ หรืออู้คำเมือง เพียงแต่ว่าภาษาผิดเพี้ยนกันไปบ้าง เช่น อีน้องคนงาม ของคนเมืองเหนือหมายถึงคนสวยคนงาม  แต่คนไทลื้อเมืองเชียงรุ้งเขาบอกว่า อีนางตัวดี หมายถึงน้องนางคนสวย ส่วนผู้ชายรูปงามหรือหล่อเหลาเอาการ เขาก็เรียกว่า อ้ายบ่าวตัวดี  ตรงนี้แหละที่แตกต่างกับบ้านเมืองเหนือของเรา ซึ่งถ้าว่าอ้ายบ่าวตั๋วดี ละก้อ อ้ายบ่าวคนนั้นดูท่าจะไม่ค่อยดีเสียมากกว่า

              

                                                แม้แต่โรงแรมและเธค

               เขตการปกครองตนเองชนชาติไท สิบสองปันนา มีเมืองหลวงชื่อในภาษาจีนว่าเมืองจิ่งหง(Jinghong) หรือสิบสองปันนา(Xishuangbanna)  หรือที่คนไทยเรียกว่าเชียงรุ้ง หรือเชียงรุ่ง ว่ากันว่ามีประวัติศาสตร์มายาวนานมากๆ ถ้าจะกล่าวว่าเป็นอู่อารยะธรรมเก่าแก่ของชนเผ่าไทก็ว่าได้ ด้วยว่ามีเรื่องราวมากมายหลายตำนานที่กล่าวถึงเช่น ชนเผ่าไทลื้อ ไทอาหม ไทพวน ไทใหญ่ จนถึงเคยเป็นส่วนหนึ่งในอาณาจักรล้านนา       

 

              

                           สิงห์ไทลื้อ มีรูปลักษณ์เหมืองสิงห์ตามหน้าโบสก์ในเชียงใหม่-เฃียงราย

              ส่วนตำนานเมืองเชียงรุ้งเล่าสืบกันมาว่า กว่า 800 ปี มีอาณาจักรหนึ่งชื่อว่าอาณาจักรหอคำเชียงรุ้ง  กษัตริย์พระองค์แรกทรงพระนามว่าพระเจ้าหอคำเชียงรุ้งที่ 1 (พญาเจือง) ปกครองแว่นแคว้นคนเผ่าไทลื้อในลุ่มแม่น้ำโขง หรือที่เรียกกันว่าแม่น้ำล้านช้าง ครั้นถึงสมัยพระเจ้าหอคำที่ 3 (ท้าวอ้ายปุง) อำนาจบารมีของราชวงศ์นี้เริ่มเสื่อมลงไป เกิดแตกแยกความสามัคคี แต่แล้วเมื่อถึงยุคสมัยของพระเจ้าหอคำเชียงรุ้งที่ 24  (ท้าวอินเมือง) ทรงพระปรีชาสมารถยิ่ง พระองค์ทรงขยายอาณาจักรหอคำเชียงรุ้งจนเป็นปึกแผ่นมากที่สุด ด้วยการแผ่อำนาจออกไปอย่างไพศาล

                                               ศิลปะไทลื้อ เห็นอยู่ทั่วไปในสิบสองปันนา

              พระเจ้าหอคำเชียงรุ้งที่ 24 ได้ขยายอาณาเขตเข้าไปยึดเมืองเชียงตุง เมืองแถน (เดียนเบียนฟู) วกลงมาจนถึงเมืองเชียงแสน  เมืองล้านช้าง แล้วสั่งอพยพชาวไทลื้อจากเมืองเชียงรุ้งไปครอบครองดินแดน พร้อมๆกับตั้งเมืองปกครองแผ่นดินเหล่านั้นไว้ ทำให้ปัจจุบันนี้ยังมีชาวไทลื้อกระจัดกระจายไปทั่วทั้งเมืองแถน หัวเมืองทางเหนือของลาวทุกเมือง รัฐฉานของพม่า จนถึงเมืองเชียงตุง            

              คราวนี้ก็มาถึงความเกี่ยวพันกับอาณาจักรรัตนโกสินทร์เริ่มต้นเมื่อ พระพุทธยอดฟ้า รัชกาลที่ 1 (ทองด้วง) ได้ทรงช่วยพระเจ้ากาวีละปลดปล่อยเมืองเหนือออกจากการปกครองของพม่า  จากนั้นจึงทรงบัญชาให้พระเจ้ากาวีละยกทัพไปตีเอาเมืองไทลื้อสิบสองปันนา(เชียงรุ้ง)  ไทลื้อเมืองพน  เมืองหย่วน  เมืองล่า  ไทขืนจากเชียงตุง  ไทใหญ่จากตะวันออกของพม่า  อันเป็นการเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง แล้วให้ชาวไทลื้อเหล่านั้นไปอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน พะเยา น่าน

             (ดูภาพเขียนสีฝาผนังโบสก์วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน จะเห็นการแต่งกายของชาวไทลื้อชัดเจน หรือศิลปะไทลื้อที่วัดหนองบัว อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน)  

                                                ชา สินค้าของชาวฮั่นหรือคนจีน

               ช่วงที่แผ่นดินสยามประเทศสูญเสียแผ่นดินก็เมื่อประเทศใหญ่ๆได้ออกล่าอาณานิคมกันทั่วเอเซีย เช่นสิบสองปันนาไปอยู่กับจีน  เชียงตุงไปอยู่กับพม่า  ส่วนลาว เขมร เวียดนาม ไปขึ้นอยู่กับฝรั่งเศส ประเทศสยามจึงเหลือพื้นที่เพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นเอง อันเป็นช่วงการครองราชย์ของรัชกาลที่ 4-5 แห่งราชวงศ์จักรี

               ส่วนเมืองสิบสองปันนาเมื่อตกไปอยู่ในปกครองของประเทศจีนแล้วนั้น ได้ถูกทางการจีนลดฐานะลงเป็นเพียงเมืองๆหนึ่ง ยกเลิกฐานันดรศักดิ์ของเจ้าราชวงศ์เชียงรุ้ง ซึ่งเคยมีเจ้าผู้ครองเมืองมานานถึง 45 พระองค์ ผู้สืบสายโลหิตของราชวงศ์นี้คือ ตระกูล แซ่เต๋า  เศร้าฮิ !!

             

                                        อาคารแบบไทลื้อริมฝั่งแม่น้ำโขง

              เรื่องราวของเขตปกครองตนเองชนเผ่าไทลื้อ สิบสองปันนา ถ้าสืบค้นกันอย่างเข้มข้นก็อาจจะได้เรื่องราวมาเล่าสู่กันอ่านอีกมากมาย แต่ว่ามาท่องเที่ยวเพียงช่วงเวลาสั้นๆ เล่าเรื่องสั้นๆ กันพอสังเขปก็แล้วกัน แต่เพื่อเป็นการเสริมใยเหล็กด้วยปากคำของคนไทลื้อที่มีตำแหน่งสูงในประเทศจีนสักนิด จะได้รู้ว่า ในความรู้สึกของท่านๆคิดเหมือนพวกเราคนไทยไหม 

            

                    อ้ายคำ YAN HAN  วุฒิสมาชิกรัฐสภาจีน และรองประธานหอการค้าสิบสองปันนา

                อ้ายคำ วุฒิสมาชิกรัฐสภาและรองประธานหอการค้าสิบสองปันนา ชนเผ่าไทลื้อ ท่านพูดภาษาไทยได้อย่างชัดเจน ท่านเล่าว่า ไปเมืองไทยเหมือนไปบ้านพี่บ้านน้อง มีความรู้สึกว่าเหมือนได้ไปเยี่ยมญาติพี่น้อง และอบอุ่นใจที่ได้สัมผัสกับไมตรีและความเอื้ออารีย์ของชาวเชียงรายอย่างยิ่ง ท่านยังได้เล่าให้ฟังว่า แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวจากเมืองไทยไปสิบสองปันนาถึงปีละกว่า 80,000 คน และคนเชียงรุ้งก็เดินทางไปท่องเที่ยวเชียงใหม่และเชียงรายมากเช่นกัน 

             อาชีพของพี่น้องไทลื้อและคนสิบสองปันนา ส่วนใหญ่ปลูกชา กาแฟและยางพารา ยางพารานี่ปลูกกันมากถึง 5-6 หมื่นไร่ ส่วนสวนกล้วยที่เห็นอยู่ด้านหลังท่านนั้นเป็นกล้วยหอม ชาวสิบสองปันนาจะปลูกกันมาก แต่ปลูกเท่าไรก็ไม่พอให้คนจีนทั้งประเทศรับประทาน เพราะว่าปลูกได้เฉพาะสิบสองปันนานี่แหละ ไม่ได้ส่งออกเลย  

             ดูหน้าตาท่าทางของท่านแล้วก็รู้สึกได้ถึงความเป็นคนไท หรือคนไต อันน่าจะมีเชื้อสายใกล้เคียงกัน  

            

                                            แม่น้ำโขง หรือแม่น้ำลานชาง

             แต่ถ้าท่านสนใจอยากไปท่องเที่ยว หรืออยากไปเยี่ยมเยียนพี่น้องถิ่นไทลื้อของเรา ก็ใช้บริการบริษัทนำเที่ยวดีที่สุด จะได้ไม่ต้องกังวลเรื่องการขอวีซ่าเข้าประเทศ การเดินทาง การกินอยู่หลับนอน และการสื่อสารที่อาจไม่เชี่ยวชาญชำนาญพอ ก็เหนื่อยเปล่าๆนะจ๊ะ 

              ในความเห็นผมแล้ว ผมชอบความสะดวกสบายหายกังวลครับ ขอบคุณ แม่โขง เดลต้า แทรเวล เอเยนซี่ www.Maekhongtravel.com Hotline โทร.086-0352235

Tags : สิบสองปันนาหงส์ฟ้าพญามังกร OUTBOUND Travel อึ้งเข่งสุง

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view