http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 08/05/2024
สถิติผู้เข้าชม14,050,759
Page Views16,361,242
« May 2024»
SMTWTFS
   1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

พม่าไม่ไปไม่รู้โดยเอื้อยนาง เรื่อง-ภาพ :ตอน8 กัมโพชาธานี ร่องรอย บารมี แห่งบาเยงนอง

พม่าไม่ไปไม่รู้โดยเอื้อยนาง เรื่อง-ภาพ :ตอน8 กัมโพชาธานี  ร่องรอย  บารมี  แห่งบาเยงนอง

พม่าไม่ไปไม่รู้

 โดยเอื้อยนาง เรื่อง-ภาพ

ตอน8. กัมโพชาธานี  ร่องรอย  บารมี  แห่งบาเยงนอง 

 

                ดวงตะวันยามบ่ายคล้อยวันนั้น  ส่องแสงผ่านม่านเมฆออกมาได้เรือง ๆ เมื่อฝนหยุดหายใจชั่วครู่  ดูดั่งแสงจากโคมไฟที่ทำจากกระดาษสีสวย  ส่องสะท้อนสีเหลืองทองของรูปปั้นหงส์คู่สัญลักษณ์ประจำเมืองหงสาวดีที่ยืนอยู่ชั่วนิรันดร์นั้นให้ดูวับวาวราวกับมีชีวิต  และกำลังขยับปีกจะโผบินหลังจากทนตากฝนมาเนิ่นนาน

                 หงสาวดีก็คล้ายดั่งนั้น   ดั่งเคยหลับฝันในม่านฝนและเมฆมัวมาเป็นระยะ  ครั้นดวงตะวันขับม่านฝนให้ผันผ่าน  ม่านเมฆแลหมอกมัวก็ผ่านพ้น  แสงเรืองรองก็จะฉายส่องให้ฟื้นตื่นจากอาการหลับใหล

                 กี่ครั้งกี่คราแล้วหนอ  กี่ครั้งที่ผ่านมา  เมืองท่าอันรุ่งเรืองในอดีตแห่งนี้ที่เคยหลับใหลแล้วฟื้นตื่น  ล้างหน้า  ขยี้ตา  แล้วยิ้มรับแสงตะวันที่ฉายกราดความเรืองรองอันไม่คงทนเพราะดวงตะวันมีภาระหน้าที่ต้องต้องกราดแสงให้ทั่วจักรวาล  หมุนเวียน  เปลี่ยนผัน   ในวันเวลาที่หมุนเปลี่ยนเวียนผัน

 

                 หงสาวดี  หรือพะโค  เป็นราชธานีแห่งราชอาณาจักรมอญ

                 บรรจุไข่ในโนเสาร์  และกุ้งแม่น้ำอิรวดีลงไปตุนไว้ในกระเพาะกันแล้ว  ก็จากลา

หงสาวดีจะไปพระธาตุอินทร์แขวนซึ่งอยู่ห่างออกไปในภูหนาป่าดงทางบูรพาทิศซึ่งใกล้เขตแคว้นแดนไทยทางด่านแม่สอด

                  “เราจะแวะชมพระราชวัง บุเรงนองกันก่อนสักครึ่งชั่วโมง”

                  คุณติ๊กประกาศด้วยน้ำเสียงและสีหน้าแย้มยิ้มตามสไตล์ของเธอ  แล้วสั่งรถให้เลี้ยวออกไปนอกเมืองยังทุ่งหญ้ากว้างใหญ่เขียวสะพรั่งและแซมให้สะพราวด้วยดอกอ้อที่โอนไสวพลิ้วในสายลม 

                  พลันที่รถจอดนั้นสายตาเราก็ไปหยุดอยู่ที่อาคารสถาปัตยกรรมแบบพม่าที่อร่ามเรือง ผุดพรายขึ้นมาท่ามกลางสีเขียวขจีราวกับเนรมิต 

                  ฝนเทลงมาอีกราวกับจะเบรกเราให้สงบเสงี่ยม  ค่อย ๆ เดินขึ้นบันไดสู่ท้องพระโรงใหญ่โตโอ่โถงที่บางส่วนยังสร้างไม่เสร็จเรียบร้อยด้วยซ้ำ

 

                  ณ ที่แห่งนี้ คือ กัมโพชธานี  (Kamboza  Thadi  Palace) ในอดีตเมื่อห้าศตวรรษก่อนโน้น

 

                  กรุงหงสาวดี หรือ  หรือ  พะโค  ตามตำนานพงศาวดารพม่าว่าสร้างขึ้นพุทธศักราช ๑๑๑๖  โดยเหตุที่กาลเวลาก่อนนี้ทะเลอ่าวมะตะบันอยู่ลึกเข้ามามากแต่ดินตะกอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดีทับถมพอกพูนให้แผ่นดินงอกออกไปเรื่อย ๆ แม้

                  ปัจจุบันก็ยังงอกอยู่  ดังนั้นเมืองพะโคแรกสร้างจึงเป็นเมืองท่า เจริญรุ่งเรืองด้วยการค้าขายจากเรือสำเภาที่กางใบเดินทางมาในฤดูมรสมทั้งจากตะวันตกและตะวันออก

                  ก่อนสร้างกรุงหงสาวดีนั้น  ราชอาณาจักรมอญมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงสะเทิม หรือสุธรรมวดี  มีตำนานปรัมปราของชาวมอญเล่าสืบมาว่า  ครั้งหนึ่ง  มีเจ้าชายจากอินเดียพระองค์หนึ่งพร้อมด้วยบริวารอพยพมาตั้งหลักปักฐานอยู่ที่สะเทิม  แล้วได้กับธิดาพญานาคจนมีโอรสสององค์ คือ ท้าวสามล  กับท้าววิมล  แต่ทางราชสำนักรับไม่ได้ที่พระกุมารเกิดมาจากมารดาที่เป็นนางนาคจึงเนรเทศออกจากเมืองไป  พระมารดาได้พาโอรสไปอาศัยอยู่กับพระฤาษี  พระฤาษีจึงสร้างเมืองให้อยู่  และบริเวณที่สร้างเมืองนั้นมีหงส์สองตัวกำลังทำรังอยู่จึงให้ชื่อเมืองว่า “หงสาวดี”

                  เมืองสะเทิมยังคงเป็นศูนย์กลางของราชอาณาจักรมอญทางตอนใต้ของพม่าสืบมาจนกระทั่ง   ที่อาณาจักรพุกามของพม่าอยู่ในรัชกาลของพระเจ้าอนุรุท(อโนรธามังฉ่อ)   ประมาณช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๖  พระเจ้าอนุรุททรงศรัทธาเลื่อมใสในพุทธศาสนานิกายเถรวาทแบบมอญมาก  ต้องการให้ประชาชนของพระองค์หันมานับถือด้วย จึงทรงแต่งทูตมาทูลขอพระไตรปิฎกจากพระเจ้ามนูหะแห่งสะเทิม  แต่ไม่ได้รับการสนองตอบ   พระองค์จึงยกกองทัพใหญ่เต็มไปด้วยแสนยานุภาพมาล้อมเมืองไว้จนในที่สุดก็เข้าตีสะเทิมแตก  กวาดต้อนทรัพย์สิน ผู้คนในราชวงศ์ ตลอดพระสงฆ์องค์เจ้าพร้อมอัญเชิญพระไตรปิฎกแห่แหนไปพุกามประเทศ หงสาวดีพลอยต้องขึ้นกับพุกามไปด้วย  ราวสองร้อยปีต่อมาพุกามเริ่มเสื่อมอำนาจลงด้วยภัยจากภายนอก  และภายในเอง   เมืองพะโคค่อย ๆ รุ่งเรืองเติบโตเข้มแข็งขึ้นเช่นกันกับเมืองเมาะตะมะ  จนกระทั่งถึงสมัยพระเจ้าฟ้ารั่ว(มะกะโท)ทรงได้รับความสนับสนุนจากไทยยึดเอาเมาะตะมะจากเจ้าเมืองชื่อ อะลิมามาง  พระเจ้าฟ้ารั่วทรงเป็นกษัตริย์ที่เข้มแข็งรวบรวมเมืองมอญทั้งหลายแล้วตั้งพะโค หรือหงสาวดีขึ้นเป็นเมืองหลวง

                   ฝ่ายพม่าเมื่อพุกามเสื่อม อังวะก็รุ่งเรืองขึ้นมาแทน  กษัตริย์พม่าแทบทุกพระองค์ยังคงใฝ่ฝันจะรวมหัวเมืองมอญฝ่ายใต้เข้าเป็นแผ่นดินเดียวกัน  ในสมัยพระเจ้ามังฆ้องแห่งอังวะ ซึ่งตรงกับสมัยพระเจ้าราชาธิฤทธิ์(พระยาน้อย  หรือ ราชาธิราช)แห่งหงสาวดีเป็นยุคที่หงสาวดีกับอังวะกลายเป็นเมืองศัตรูคู่สงครามประลองฝีมือของกษัตริย์ทั้งสองที่ต่างฝ่ายต่างมีพระปรีชา บารมี ผลัดกันรุก ผลัดกันรับ บางต่อสู้ห้ำหั่น  บางครั้งสัญญาเป็นมิตรกันรักษาความสงบ แลกเปลี่ยนเครื่องบรรณาการ  ต่างส่งพระราชธิดาไปให้อีกฝ่าย  บางครั้งผู้ชนะจับตัวพระญาติ  แม่ทัพ นายกองของอีกฝ่ายไปเลี้ยงดูไว้ในกองทัพตนยกตำแหน่งสูง หรือแม้แต่พระราชธิดาให้เป็นสิ่งตอบแทน    อีกฝ่ายก็ติดตามแก้แค้นทวงเอาคืน  จนเกิดความผูกพัน  มีความเชื่อ และเสียงเล่าลือว่า  แม้แต่ราชบุตรของหงสาวดีที่ถูกพระบิดาสั่งประหารยังกลับชาติไปเกิดเป็นราชบุตรแห่งอังวะเพื่อกลับมาแก้แค้น(กรณีเจ้าลาวแก่นท้าวโอรสพระเจ้าราชาธิราช กับ เจ้าชายมังรายกยอชะวาโอรสพระเจ้ามังฆ้องผู้เก่งกาจเป็นขวัญใจของทั้งมอญและพม่า)

                 ครั้นต่อมาพม่าย้ายศูนย์กลางราชอาณาจักรไปอยู่ตองอู  กษัตริย์พม่ายังคงต้องการรวมเอาหัวเมืองทางใต้ทางออกสู่ทะเล   จนกระทั่งถึงรัชกาลพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้กษัตริย์นักรบและมีขุนศึกคู่บัลลังก์ที่เก่งกาจอย่างบุเรงนองจึงทรงผนวกเอาหงสาวดีและเมาะตะมะที่กำลังยุ่ง ๆ ได้ไม่ยากนัก  ครั้นบุเรงขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลต่อมาทรงแผ่ขยายราชอาณาจักรพม่าออกไปได้กว้างไกลรอบทิศเป็นประวัติการณ์  จนได้รับการขนานนามว่า”ผู้ชนะสิบทิศ”  ทรงมีกองทัพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เคยมีมา

                 ครั้นว่างจากศึกกลับมาคราหนึ่ง  พระเจ้าบุเรงนองทรงเห็นว่ากรุงหงสาวดีทรุดโทรมไปมากเนื่องจากการกบฏที่ผ่าน ๆ มามีการเผาบ้านเผาเมืองด้วยจึงดำริให้มีการสร้างเมืองใหม่มีพระราชวังใหญ่โตสมพระเกียรติ มีที่พำนักของราชวงศ์ต่าง ๆ ที่พระองค์ไปรบชนะกวาดต้อนมาไว้เป็นเชลย ซึ่งมีทั้งผู้ลากมากดี ศิลปิน ช่างฝีมือนักปราชญ์ราชบัณฑิต  พระราชวังใหม่นี้จึงเป็นผลงานของช่างฝีมือจากหลายราชสำนักสวยงามโอ่อ่าจนฝรั่งต่างชาติที่เดินทางมาเห็นได้บันทึกไว้ว่าแม้แต่หลังคาก็ทำด้วยทองคำ  ส่วนท้องพระโรงนั้นเสาทุกต้นให้จารึกชื่อเมืองที่พระองค์รบชนะมาได้  และประตูทั้งสิบสองประตูก็เป็นชื่อเมืองสำคัญ ๆ เช่น ประตูโยเดีย  ประตูเชียงใหม่ เป็นต้น

                 พระเจ้าบุเรงนองขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. ๒๐๙๔  เริ่มสร้างพระราชวังใหม่ในปีที่ ๑๕ ของรัชกาล คือ ปี ๒๑๐๙  ทรงตั้งชื่อว่า  “กัมโพชาธานี”  (Kamboza  Thadi  Palace)  พระองค์สวรรคตในปี พ.ศ.๒๑๒๔ ขณะยกกองทัพไปปราบยะไข่  และอีกไม่ถึง ๒๐ ปีต่อมา คือ ปี พ.ศ. ๒๑๔๒  สมัยของพระเจ้านันทบุเรงพระโอรสของพระองค์ซึ่งครองราชย์ต่อมากรุงหงสาวดีก็แตก  สมบัติทั้งปวงในพระราชวังถูกแบ่งกันในกลุ่มผู้ชนะ คือ ยะไข่ ร่วมกับ ตองอูซึ่งเจ้าเมืองตองอูก็เป็นเชื้อสายของกษัตริย์บุเรงนองเอง

                หม่อง ทิน อ่อง นักเขียนประวัติศาสตร์ชาวพม่า  เขียนไว้ในหนังสือ ประวัติศาสตร์พม่าของเขาว่า

               “กองทัพทั้งสอง(ตองอูกับยะไข่)เดินเข้าเมืองโดยสะดวกและปรึกษาแบ่งทรัพย์สิน เช่น เงิน ทอง ของมีค่าต่าง ๆ เท่า ๆ กัน ส่วนพระพุทธรูปทององค์ใหญ่ที่พระเจ้าบุเรงนองยึดมาได้จากอยุธยาก็ตกเป็นของยะไข่  ฝ่ายพระพุทธรูปที่พบในวังเป็นของตองอู  นอกจากนั้นพระเจ้ายะไข่ยังนำพระธิดาของพระเจ้านันทบุเรงไป  และชาวตองอูมีหน้าที่อารักขากษัตริย์ผู้เพลี่ยงพล้ำ(พระเจ้านันทบุเรง)  ชาวยะไข่ได้ช้างเผือกไปเป็นสมบัติ  และยอมให้กองทัพตองอูเปิดกรุทรัพย์สินในเจดีย์ที่พระเจ้าบุเรงนองสร้างขึ้นเพื่อนำเอาพระเขี้ยวแก้ว  และบาตรที่นำมาจากลังกาไป....กองทัพยะไข่เข้ารื้อค้นพระราชวัง  และทรัพย์สมบัติในบ้านเมือง  และเผาเมืองเสียด้วย...”  (หน้า ๑๓๕)

....

                มาถึงพ.ศ.นี้หลังจากพม่าผ่านร้อนผ่านหนาวและทิ้งให้กัมโพชาธานีกลายเป็นทุ่งหญ้าเวิ้งว้างรกร้างมานานก็ได้เวลารื้อฟื้นสร้างขึ้นมาใหม่ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว  แหล่งศึกษาทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก  พระบารมีของพระเจ้าบุเรงนอง  ยังคงแผ่ผายให้ลูกหลานชาวพม่าได้อาศัยร่มใบบุญผู้คนจึงหลั่งไหลมาไม่ขาดสาย  แม้ราชธานีแห่งนี้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ด้วยซ้ำ  และแม้ในวันที่ดวงตะวันกับเมฆฝนจะ

                 ผลัดเปลี่ยนกันมาเยือนแหล่งหล้า  เหนือหงสาวดี อย่างวันที่คุณติ๊กพาเราเข้าชมอย่างทุลักทุเลนี้ก็ยังมีอีกหลายคณะที่ตาม ๆ กันเข้ามาชื่นชม

                  

Tags : พม่าไม่ไปไม่รู้ เอื้อยนาง ทองไทยแลนด์ เรื่องสั้น..เรื่องยาว โดยเอื้อยนาง

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view