http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,995,527
Page Views16,303,872
« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง: หลักการจัดการอุทยานแห่งชาติที่สับสน โดยธงชัย เปาอินทร์ /เรื่อง -ภาพ/บารมี-เข็มชาติ เปาอินทร์

อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง: หลักการจัดการอุทยานแห่งชาติที่สับสน โดยธงชัย เปาอินทร์ /เรื่อง -ภาพ/บารมี-เข็มชาติ เปาอินทร์

อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง: หลักการจัดการอุทยานแห่งชาติที่สับสน

โดยธงชัย เปาอินทร์ (วน.33) /เรื่อง -ภาพ/บารมี-เข็มชาติ เปาอินทร์

         ห้วยน้ำดัง..ดังสมชื่อ  ดังมาจากเหตุใด แต่เมื่อดังแล้วแปลงร่างจากโครงการหลวงพัฒนาต้นน้ำมาเป็นอุทยานแห่งชาติ หลักการจัดการต้องเปลี่ยนตามไปด้วยหรือไม่ วันนี้ ห้วยน้ำดังยังคงสับสนกับหลักการจัดการอุทยานแห่งชาติ หรือว่า ยังติดกระแสความโด่งดังที่เป็นเงาในอดีตเช่นนั้นหรือ ?  คำตอบอยู่ที่จะใช้หลักการจัดการอุทยานแห่งชาติสากลหรือจะใช้หลักเกินของคนไร้หลัก 

         ตอบหน่อยได้ไหม อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ศิษย์เก่าวนศาสตร์รุ่นที่ 35 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

สองข้างทางเต็มไปด้วยป่าสนเขาหรือป่าดิบเขา

          เมื่อกองอนุรักษ์ต้นน้ำ กรมป่าไม้  ตั้งหน่วยงานเพื่อฟื้นฟูหรือปลูกป่าต้นน้ำห้วยน้ำดังขึ้น  เมื่อปีพ.ศ.2518 ในช่วงเวลานั้นใช้ชื่อว่าโครงการหลวงพัฒนาห้วยน้ำดัง  ทำงานกันไปตามหลักการปลูกป่าต้นน้ำ พันธุ์ไม้ที่ปลูกพยายามใช้พันธุ์ไม้ในถิ่นกำเนิด เช่นแอปเปิ้ลป่า ไม้เติม  สนสามใบ ฯลฯและพัฒนาอาชีพให้กับชาวไทยภูเขาในพื้นที่ด้วยการทำแปลงสาธิตปลูกพืชเมืองหนาว ตั้งแต่พืชล้มลุกจนถึงพืชยืนต้น เช่นแครอท ท้อ สาลี่ ฯลฯ

          หวังเปลี่ยนพฤติกรรมการทำกินให้ใช้พื้นที่เท่าเดิมแต่มีรายได้สูงขึ้น ลดการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ในทางอ้อม

        

                                บรรยากาศดีมาก ณ จุด 1,615 เมตร

          นายบัวตั๋น หวังธารา นักวิชาการป่าไม้ ศิษย์เก่าวนศาสตร์รุ่น 29 หัวหน้าโครงการหลวงห้วยน้ำดัง ได้ใช้กุสโลบายให้เกิดการเข้ามาใช้พื้นที่และบ้านพักของหน่วยงานรองรับ เพื่อหวังประชาสัมพันธ์ผลงานการปลูกป่าต้นน้ำที่ยากเย็นแสนเข็ญ เรียกว่าอยากให้คนพื้นล่าง คนกรุงเทพ ได้ขึ้นมารู้และเห็น อันเป็นการก้าวล้ำนำหน้าแนวคิดใครๆ มีนักท่องเที่ยวมากมายสนใจได้เข้ามาพักค้างอ้างแรมทั้งบ้านพักและกางเต็นท์ บนดอยกิ่วลมนี่แหละ 

ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว

          แต่ด้วยความใสซื่อบริสุทธิ์เกินไป ทำทุกอย่างตั้งแต่ซื้อหาที่นอนหมอนมุ้ง ตบแต่งสถานที่ด้วยไม้ดอกเมืองหนาว จนโครงการหลวงห้วยน้ำดังโด่งดัง 

          อย่างกับโบราณว่า "ทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย"

          นายโบตั๋นถูกร้องเรียนว่า ใช้พื้นที่หลวง บ้านพักหลวง คนงานหลวง ทำรีสอร์ทส่วนตัว เก็บเงินเข้ากระเป๋า เท่านั้นเอง ที่ทำให้นายบัวตั๋น หวังธารา ต้องเจ็บปวดจนแทบกระอักโลหิต เมื่อสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เชียงใหม่ ตั้งเรื่องสอบสวน ให้นายบัวตั๋นคืนเงินให้กับแผ่นดินกว่า 5 แสนบาท  ได้ผลครับนายโบตั๋นล้มตึงด้วยความเครียด เส้นเลือดในสมองแตก เป็นอัมพฤกษ์ทันใด 

เทือกเขาสูงชันและสลับซับซ้อน ต้องปกป้องไว้

         เงินที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาชมงานของโครงการหลวงพัฒนาต้นน้ำห้วยน้ำดัง บริจาคให้เป็นค่าซักที่นอน กวาดถู ล้างห้องสุขา และเบี้ยเลี้ยงของชาวบ้านที่เข้ามาทำงานนอกเวลา แต่นายโบตั๋นต้องหาเงินมาใช้หนี้แทน เป็นเคราะห์กรรมของคนที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล  มีจิตใจดีระดับดาร์คทอลล์แอนด์แฮนด์ซั่ม ตัวจริงที่ในวงการนักวิชาการป่าไม้ยอมรับ ใบหน้าเปื้อนยิ้ม เสียงหัวเราะเบาๆ อบอุ่นที่ได้พบเจอ กลับต้องรับกรรมจากความดี (เนื่องจากไม่ได้ขออนุมัติกระทรวงการคลังเก็บและใช้บริหารได้)

แปลงดอกไม้เมืองหนาวคล้ายๆตอนถ่ายโฆษณาฟิล์มสีฟูจิ

          ในช่วงที่โครงการหลวงพัฒนาต้นน้ำห้วยน้ำดังโด่งดัง ได้มีบริษัทฟิล์มสีฟูจิ ขึ้นไปจัดฉากแล้วถ่ายภาพออกไปในช่วงฤดูหนาวที่ดอกไม้สวยและทะเลหมอกเกลื่อนกล่น ภาพเดียวที่ออกไปเหมือนกับภาพของกฤษดาดอย ดังทะลุฟ้าผ่าแผ่นดิน นั่นยิ่งช่วยประชาสัมพันธ์ให้ห้วยน้ำดังดังกระฉ่อนหรือไม่ ถ้าต้องใช้เงินงบประมาณเพื่อการประชาสัมพันธ์ จะหมดเม็ดเงินไปสักเท่าไร

           แต่แล้วนายโบตั๋นก็เสียชีวิตไปด้วยความขมขื่นของครอบครัว ญาติมิตร และเพื่อนร่วมงานที่มีทั้งผู้บังคับบัญชา รุ่นพี่ เพื่อน และรุ่นน้องๆ ที่ล้วนแต่รักและเคารพพี่บัวตั๋น หวังธารา

           (ในช่วงชีวิตหนึ่ง โชคดีที่ได้เคยรู้จักพี่บัวตั๋น)

       

                                    นักท่องเที่ยวชอบถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก

           ปีพ.ศ.2530 อกพ.กรมป่าไม้ ลงมติให้สำรวจจัดตั้งห้วยน้ำดังให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ครอบคลุมพื้นที่โครงการหลวงห้วยน้ำดัง แม่จอกหลวง ห้วยน้ำรู ดอยสามหมื่น และป่าสงวนแห่งชาติแม่ปายฝั่งซ้าย รวมพื้นที่ 782,575 ไร่(1,252.12 ตร.กม.) ท้องที่อำเภอแม่แตง, เวียงแหง, จังหวัดเชียงใหม่ และอ.ปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประกาศในราชกิจจานุเบกษา112 ตอน33ก ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2538 เปลี่ยนแปลงจากการใช้หลักการจัดการป่าต้นน้ำ มาเป็นใช้พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติปีพ.ศ.2504 ซึ่งมีระเบียบให้เก็บเงินเข้าคลังได้ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งขอมาใช้ในการพัฒนาอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดังได้

         อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดังประกอบด้วยลักษณะภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสูงชัน สลับซับซ้อน ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 400-1,962 เมตร ยอดดอยสูงสุดคือดอยช้าง  อุณหภูมิเฉลี่ย 20 องศาเซลเซียส  ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,134 มม./ปี มีถนนสายแม่มาลัย-อ.ปาย-จ.แม่ฮ่องสอนพาดผ่าน ราดยางอย่างหนาและมีภูมิทัศน์สองข้างทางเป็นป่าสนสามใบ(ป่าดิบเขา)  ป่าดงดิบชื้น และป่าเบญจพรรณ ถ้าขับรถยนต์ไปเองหยุดถ่ายรูปวิวสวยๆได้ตลอดทาง

       

                  กุหลาบแดงจีน..มั้ง?                                   นี่ก็..ดอกผักเสี้ยนฝรั่ง

         ในสถานะภาพที่เป็นป่าต้นน้ำ อุทยานแห่งชาติปกป้องผืนป่าพื้นที่นี้ เพื่อคงสภาพป่าต้นน้ำสาขาแม่น้ำปิงและแม่น้ำปายเช่น ห้วยน้ำดัง ห้วยแม่จอกหลวง ห้วยโป่ง ห้วยแม่ยะ ห้วยแม่สลาหลวง  ห้วยขาน ห้วยแม่ฮี้ ห้วยแม่ปิง ห้วยแม่เย็น ฯลฯ เพื่อดูดซับเก็บรักษาน้ำไว้ใต้ดินแล้วปลดปล่อยลงสู่ที่ต่ำทีละนิดๆอย่างสม่ำเสมอ เหมือนเป็นแทงค์บรรจุน้ำไว้บนที่สูง ช่วยกรองตะกอนให้คุณภาพน้ำบริสุทธิ์ ใสสะอาด  และเพื่อให้มีน้ำไหลตลอดเวลา  เรียกว่ามีน้ำดีอย่างยั่งยืน

         บ้านพักของโครงการหลวงพัฒนาห้วยน้ำดังแปรสภาพเป็นหน่วยงานของอุทยานแห่งชาติ ใช้ประโยชน์ได้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ถูกเรียกเงินคืนอย่างนายบัวตั๋นแน่นอน    

          ป้ายสื่อความหมายที่เก๋ ถูกต้อง                         สาวม้ง...ว่างก็ถักทอเพื่อขาย

          ส่วนทรัพยากรท่องเที่ยวของอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง มีดีเด่นดังอะไรบ้างหรือ ในส่วนแรกจากปากทางแม่มาลัย น่าจะเป็น โป่งเดือดป่าแป๋ ซึ่งเป็นแหล่งที่ควรท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติวิทยาของน้ำพุร้อนที่แตกต่างจากบ่อน้ำพุร้อนทั่วๆไป(โปรดติดตามตอน 2 โป่งเดือดป่าแป๋) ซึ่งเข้าถึงได้สะดวกด้วยถนนราดยาง มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติน่าเดิน และบันทึกภาพสวยๆไว้ในไฟล์ส่วนตัว ถัดไปก็เป็นทรัพยากรท่องเที่ยวที่โด่งดังเหลือแสนนั้นคือ ทะเลหมอกห้วยน้ำดัง(ดอยกิ่วลม)

        

               ลานกางเต็นท์ที่มีจำกัดเพื่อชมทะเลหมอกงามๆ                

          ณ ดอยกิ่วลม อันเป็นศูนย์บริการนักท่องเที่ยวที่ใหญ่โต มีภาพสื่อความหมายสวยงามให้ชม และศึกษา มีบ้านพักที่ต้องจองทางอินเตอร์เน็ท ร้านสวัสดิการให้รองท้อง  กาแฟสดซดให้กระชุ่มกระชวย  ร้านขายของที่ระลึกผลิตภัณฑ์ของชาวไทยภูเขา ห้องสุขาสะอาด และลานกางเต็นท์ที่ท่านสามารถสัมผัสทะเลหมอกได้อย่างใกล้ชิดสุดๆ น่าเสียดายที่ไปเยี่ยมชมห้วยน้ำดังเมื่อสายไป ทะเลหมอกจางไปตามเวลาของเขา

           การเข้ามาสัมผัสที่ดีที่สุดคือควรจองที่พักและกางเต็นท์นอนที่ดอยกิ่วลม 1 คืน

 

            ชะนีมือขาว( Hylobates lar )                   กวางผา(Narmorhedas caudatus )     

          บริเวณสะอาดด้วยความเอาใจใส่ของเจ้าหน้าที่ เยี่ยม ในศูนย์บริการนักท่องเที่ยวช่วยให้รู้ว่าพบกวางผาที่ดอยม่อนเหลี่ยม ดอยแม่ยะ อันเป็นพื้นที่ทางตอนใต้ของอุทยานฯ ชะนีมือขาวพบที่ดอยม่อนหลัก  ดอยถ้ำป่อง  ดอยถ้วย และดอยปกกะลา  ไก่ฟ้าลายขวาง พบที่ดอยแม่ยะ  ดอยช้าง  ดอยสามหมื่น  ดอยกิ่วลม  และดอยสิกิ และนกแว่นตาขาวหลังเขียว พบตามต้นนางพญาเสือโคร่ง(ดอกซากุระเมืองไทย)  

          เป็นต้น เสียอย่างเดียว เขียนชื่อวิทยาศาสตร์ไม่ถูกหลักการเขียนตามหลักวิชาการและไม่ยักกะบอกว่าอยู่ในวงศ์ไหน ถ้าเพิ่มเติมได้ก็คงจะดี เยาวชนคนลอกไปใช้จะได้เขียนถูกต้อง 

 

       นกแว่นตาขาวหลังเขียว( Japanese white-eye)                   ไก่ฟ่าลายขวาง(Syrmaticus humiae )

          ด้วยทรัพยากรท่องเที่ยวเพียงสองจุดนี้ก็เหลือรองรับผู้คนที่แห่แหนกันขึ้นไปเมื่อถึงช่วงที่เข้าฤดูหนาว ซึ่งมีอุณหภูมิเฉลี่ย 20 องศาเซลเซียส แต่เวลาลงต่ำก็ลงจนถึง 2 องศาเซลเซียส ช่วงเวลานี้จะเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ ถ้าค้างอ้างแรมบนดอยกิ่วลมจะได้ชมทะเลหมอกแต่เช้าตรู่(ตี 05.30 น.เป็นต้นไป) ติดขัดด้วยที่พักและที่กางเต็นท์ไม่พอเพียง จึงมีไม่น้อยที่พักแรมใกล้ๆ แล้วตีรถดิ่งขึ้นมาชมทะเลหมอกแต่เช้า

          ผมไปช่วงสายแก่ๆจนถึงบ่ายอ่อนๆ ก็ยังรู้สึกปลื้มใจที่ได้สัมผัส อากาศเย็นสบาย สดชื่น ฟอกปอดได้เยี่ยม

        

                                     ร้านขายสินค้าที่ระลึกของชาวไทยภูเขา

          ด้วยว่าอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดังดังมากๆจากภาพโฆษณาของฟิล์มสีฟูจิ มีดอกไม้เมืองหนาวปลูกเป็นแถวแนวสวยเด่น เห็นแล้วประทับใจ ภาพที่สื่อออกไปทางทีวี นิตยสาร ทำให้ห้วยน้ำดังกระฉ่แน ดังนั้นทุกวันนี้ อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดังก็ยังคงพยายามรักษาภาพเมื่อครั้งเป็นโครงการหลวงพัฒนาต้นน้ำห้วยน้ำดัง ด้วยการปลูกดอกไม้เมืองหนาวเหมือนเดิม

          ทั้งๆที่วันนี้ ห้วยน้ำดังได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติตาม พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 แล้วก็ตาม

                    

          หลักการจัดการอุทยานแห่งชาติสากลเขาไม่นำหรือปลูกทั้งพันธุ์พืชและสัตว์เลี้ยงอันเป็นพันธุ์พืชและสัตว์ต่างถิ่นๆ (Exotic species) ในเขตอุทยานแห่งชาติโดยเด็ดขาด ด้วยว่าการอนุรักษ์พื้นที่ป่าอนุรักษ์นั้นเขาอนุรักษ์เผ่าพันธุ์พืชและสัตว์ป่าดั้งเดิมในทองถิ่น ให้มีสายพันธุ์หรือสายเลือดบริสุทธิ์ เรียกง่ายๆว่าเป็นพันธุ์แท้ดั้งเดิม เป็นสต็อกธรรมชาติ ไม่ว่าพันธุ์ต่างถิ่นเหล่านั้นจะกระจายพันธุ์ได้หรือไม่ก็ตาม แต่ก็อาจเกิดสับสนในชนิดพันธุ์พืชหรือสัตว์ในอุทยานแห่งชาติแก่อนุชนรุ่นหลังได้ ก็มันมีอยู่ในอุทยานแห่งชาตินี่

 

               แก่เกินแกง..เดินไปไม่ทั่ว                                 ดอกไม้ที่น่าพิศวง

          อ้าว  แล้วจะตบแต่งสถานที่ให้สวยงามได้อย่างไรหรือ ไม่ยากครับ เดินทางไปชมเขตห้ามล่าสัตว์ป่าภูหลวง อ.ภูหลวง จ.เลย ที่นั่นเขาหยิบจับเอาดอกกุหลาบแดงที่มีอยู่ในพื้นที่ออกมาปลูกประดับใกล้ๆสำนักงาน แต่ดอกกุกลาบแดงที่ทางขึ้นศูนย์บริการนักท่องเที่ยวห้วยน้ำดังนั้นน่าจะเป็นกุหลาบแดงจากประเทศจีนครับ ต่างถิ่นๆ

          ทั้งพันธุ์ไม้ดอกและพันธุ์ไม้ใบต่างท้องถิ่น ไม่ควรนำมาปลูกประดับในอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ เพื่ออนุรักษ์พันธุ์แท้ดั้งเดิมเอาไว้

          หรือว่าอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ,พันธุ์พืชและสัตว์ป่า ก็ยังสับสนในหลักการอยู่   

           

 

 

 

          

 

Tags : ท่องเที่ยวทั่วถิ่นไทย กรุความคิด กรมอุทยานแห่งชาติ

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view