http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,957,397
Page Views16,263,707
« March 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31      
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

ดอยกาด:หน่วยศึกษาการอนุรักษ์ต้นน้ำ อ.ปง จ.พะเยา โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

ดอยกาด:หน่วยศึกษาการอนุรักษ์ต้นน้ำ อ.ปง จ.พะเยา โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

                         ดอยกาด:หน่วยศึกษาการอนุรักษ์ต้นน้ำ อ.ปง จ.พะเยา

โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ-จำลอง บุญสอง

                 อนุสนธิจากการเดินทางไปประชุมมูลนิธิสมเพิ่ม กิตตินันท์ อ.นาน้อย จ.น่าน เพื่อให้ทุนการศึกษาต่อเนื่องตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบปริญญาตรี ประจำปีการศึกษา 2554 เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2554 นั้น

                 เป็นธรรมเนียมปฎิบัติของคณะกรรมการมูลนิธิไปแล้วว่า หลังการประชุมจะเดินทางไปเยี่ยมเยียนหน่วยงานในสังกัดกรมป่าไม้เดิม หรือกรมอุทยานแห่งชาติ อันเป็นต้นสังกัดเดิมของคณะกรรมการมูลนิธิส่วนใหญ่ ซึ่งในปีนี้ ได้ลงมติกันว่าอยากไปเยี่ยมเยียนหน่วยงานที่เข้าถึงได้ยากลำบากและทำงานด้วยความเหนื่อยล้ามานาน 

        

                                   ความงดงามของเส้นทางที่เดินทางไป

                 คุณประสิทธิ์ พัฒนใหญ่ยิ่ง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพิษณุโลก หนึ่งในคณะกรรมการมูลนิธิได้นำเสนอให้ประธานคณะกรรมการมูลนิธินายอุดม หิรัญพฤกษ์ อดีตรองอธิบดีกรมป่าไม้ และอดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และประธานคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ นายธานี ภมรนิยม  อดีตผู้อำนวยการกองจัดการที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ ว่าปีนี้ เมื่อเสร็จสิ้นการประชุมวันที่ 22 มค 54 จะเชิญไปเยี่ยมหน่วยศึกษาการอนุรักษ์ต้นน้ำดอยกาด อ.ปง จ.พะเยา ซึ่งมีนายพอดี อินอนุรักษ์ เป็นหัวหน้าหน่วยดังกล่าว

                  เด็กน้อยชาวม้ง                                             หนุ่มน้อยชาวม้ง

                หลังการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิและมอบทุนการศึกษาต่อเนื่องประจำปี 2554 จำนวน 45 ทุน เป็นเงิน 206,200 บาทและคณะกรรมการได้รับคำร้องเพิ่มเติม 7 ทุน แต่ได้พิจารณาตามเอกสารเพียง 3 ทุน อีก 19,500 บาท รวมเป็น 48 ทุน เป็นเงินทั้งสิ้น 225,700 บาท อันเป็นความหวังว่าจะช่วยให้เยาวชนได้มีโอกาสในการศึกษาได้มากขึ้น หลังจากรุ่นพี่ๆได้จบปริญญาตรีไปแล้ว 15 คน ซึ่งยังความปลาบปลื้มให้กับคณะกรรมการมูลนิธิเป็นอย่างยิ่ง

                  ที่ทำการหน่วย                                        ป่าปลูกทดแทนใหม่

                คณะกรรมการมูลนิธิสมเพิ่มกิตตินันท์ พร้อมด้วยกลุ่มสื่อมวลชนจากกรุงเทพฯ ประกอบด้วยคุณจำลอง บุญสอง บก.ท่องเที่ยว นสพ.พสท์ทูเดย์ นายขจิต ธริษตรีศูนย์ บก.ท่องเที่ยว ทีวีช่อง11 นายชูชาติ อ่องสุนทร บก.ท่องเที่ยว นสพ.สยามกีฬารายวันและสยามดารา นักเขียนอิสระ คุณประทีป นรมั่ง อดีตข้าราชการกรมราชทัณฑ์ และผม บก.บริหาร www.thongthailand.com  จึงได้เดินทางไปยังหน่วยงานดังกล่าว

        

                      ดื่มแก้หนาวเหน็บเจ็บกระดูก เพื่อสุขภาพ  นี่ถ้าดื่มในอุทยานฯก็ยุ่งครับ

                โดยใช้เส้นทางจากอำเภอนาน้อย-อ.เวียงสา-จ.น่าน-อ.ท่าวังผา แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามถนนสายท่าวังผา-บ้านนาหนุน-ดอยติ้ว เมื่อถึงบ้านดอยติ้ว คณะกรรมการได้หยุดรถยนต์ลงไปทักทายกับพี่น้องชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง ส่งยิ้มให้กับเยาวชนน่ารักหลายคน ได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของพี่น้องบนที่สูง ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของบ้านเรือน ได้เห็นเยาวชนม้งเปลี่ยนไปด้วย

                บ้านดอยติ้วเป็นชาวไทยภูเขาเผ่าม้งที่เคยสู้รบในเจตสีแดงมาก่อน แต่เมื่อกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดน่าน (กอ.รมน.) ต้องแยกฝ่ายบำรุงกำลังออกจากฝ่ายปฏิบัติการสู้รบในเขตอ.ทุ่งช้าง อ.ปัว อ.เชียงกลาง  จึงได้อพยพชาวม้งให้ลงมาอยู่ที่ดอยติ้ว อ.ท่าวังผา อันเป็นยทธวิธีหนึ่งในช่วงเวลานั้น มีการเปิดพื้นที่ป่าไม้ให้เป็นที่อยู่อาศัย และกันพื้นที่บางส่วนให้ทำกินเลี้ยงชีพได้ ดอยติ้วจึงกลายเป็นป่าเสื่อมโทรม 

ใบเมเปิ้ลไทย(ก่วมแดง)กำลังเปลี่ยนสีก่อนทิ้งใบ

                ต่อมา กองอนุรักษ์ต้นน้ำโดย ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์ต้นน้ำ นายอุทัย จันผกา ก็ได้อนุมัติให้ตั้งหน่วยปลูกป่ารักษาต้นน้ำทดแทนพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมบนที่สูง ชื่อว่าหน่วยจัดการต้นน้ำดอยติ้ว ใกล้ๆกับบ้านดอยติ้ว   ต่อมาก็เพิ่มขึ้นอีกหน่วยชื่อว่าหน่วยจัดการต้นน้ำคาง (ประยูร กันทะวงศ์ เป็นหัวหน้าคนแรก)หรือเรียกกันว่าดอยวาว ซึ่งมีลานกางเต็นท์ให้เข้าไปกางนอนได้

ภาพนี้ฝีมือบก.ท่องเที่ยวโพสท์ทูเดย์ จำลอง บุญสอง

                ณ จุดนี้เองที่ยังเหลือป่ารอยต่อระหว่างต้นน้ำน่านกับต้นน้ำยม ช่วงป่ารอยต่ออันเป็นขุนต้นน้ำของสองแม่น้ำนั้น เป็นป่าดงดิบเขาที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้ยังมีแหล่งน้ำซับที่ไหลซึมสามารถต่อน้ำไปใช้ในหน่วยจัดการต้นน้ำได้ตลอดปี 

       

 คนแก่หนาวจนต้องผิงไฟ

                เลยจากที่ตั้งหน่วยจัดการต้นน้ำคางมีถนนที่ตัดผ่านป่าดงดิบเขาดังกล่าวเข้าไปยังหน่วยศึกษาการอนุรักษ์ต้นน้ำดอยกาด อยู่ในเขตการปกครองอำเภอปง จังหวัดพะเยา ณ จุดสูงสุดของสันปันน้ำคือ ยอดดอยกาด ฝั่งหนึ่งน้ำจะไหลไปยังลุ่มน้ำยม แต่อีกฝั่งหนึ่งน้ำจะไหลไปยังลุ่มน้ำน่าน ยอดดอยกาดสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,600 เมตร มองเห็นวิวทิวทัศน์ได้กว้างไกลในรัศมี 360 องศาทีเดียว ถือกันว่าเป็นจุดชมวิวที่น่าสนใจ

         เด็กๆน่ารักเสมอ ไม่ว่าเชื้อชาติไหนๆ

                แต่การเดินทางซิครับยากเหลือเกิน ด้วยว่าถนนตัดผ่านผืนป่าดงดิบนั้นสูงชัน และเป็นถนนลำลองที่ใช้ได้ดีในฤดูแล้ง ฤดูหนาว ส่วนฤดูฝนต้องพันโซ่ล้อรถยนต์โฟร์วีลล์(หัวหน้าเล่าให้ฟัง) ไม่เช่นนั้นการเข้าถึงก็ยากลำบากมากๆ แต่ในการเผชิญภัยบนถนนสายวิบาก 4.5 กม.นี้ลื่นไหลไปตามฝีมือการขับเคลื่อนของผู้ชำนาญทางหนุ่มชื่อเล่นว่า เจ 

                      ถนนดินธรรมดา                                                  ใบเฟิร์นหัสดำ

                ผืนป่าดงดิบที่ผ่านไปนั้น เต็มไปด้วยต้นไม้ป่าสูงใหญ่ บดบังแสงแดดที่สาดส่องจนมิด หลังพุ่มเรือนยอดต้นไม้จึงดูทึมๆ ในร่มเงาที่มีแสงแดดลอดได้ไม่มากนัก มีพันธุ์ไม้หลากหลายชนิดพันธุ์และหลายระดับ ขึ้นปะปนกันอยู่เช่น ต้นหัสดำ หรือเฟิร์นต้น ตระกูลคล้าหรือเรียกตามภาษาพื้นบ้านว่า ตองสัก หรือต้นกล้วยป่าที่สูงลิ่วและมีอยู่หนาแน่นตามหลืบห้วย ซึ่งมีความชุ่มชื้นกว่าที่ลาดเอียง  ดินอุดมสมบูรณ์ด้วยอินทรีวัตถุที่เกิดจากการทับถมและผุสลายของใบไม้ที่ร่วงหล่น 

         

 ที่นอนหมอนเต็นท์ก็หอบกันมาได้

                 พอทะลุผ่านผืนป่าดงดิบก็เห็นเป็นที่โล่งแจ้ง มีร่องรอยการปลูกป่าทดแทนขึ้นมาใหม่ ปลูกผสมผสานกันไปอย่างละนิดอย่างละหน่อย มีรั้วล้อมรอบ เป็นรั้วลวดหนามด้วย  เห็นแล้วแรกทีเดียวคิดว่าเป็นรั้วของเจ้าของที่ดินที่บุกเบิก มีเจ้าของแล้วว่างั้นเถอะ  แต่เมื่อได้พบกับหัวหน้าหน่วยศึกษาการอนุรักษ์ต้นน้ำดอยกาด นายพอดี อินนุรักษ์ จึงได้ทราบว่า

         

   ลานโล่งหน้าที่ทำการชั่วคราว กางเต็นท์นอนได้

                 "รั้วลวดหนามที่เห็นผมจำเป็นต้องล้อมครับ เพราะว่าชาวม้งดอยติ้วเลี้ยงวัวเยอะมากๆ ไม่งั้นมันเหยียบต้นกล้าที่ปลูกตายหมด"

                 "ถ้าจุดไหนมีถนนที่ตัดไปทำงานก็ต้องทำประตูปิดเปิดเอาไว้ด้วย เข้าออกแต่ละครั้งทีมงานรู้กันว่าต้องเปิดแล้วก็ต้องปิดให้เรียบร้อยด้วย"

                 "ต้นไม้ที่ศึกษาหาความเป็นไปได้ในการปลูกป่าทดแทน ผมได้เพาะกล้าไม้ให้แข็งแรง มีอายุราว 1 ปีเศษๆ แล้วจึงขนไปปลูก เปอร์เซ็นต์การรอดตายจึงจะสูงครับ"

                   หัสดำต้นกำลังงาม                                 เพื่อนๆร่วมเดินทาง

                 "ปลูกอยู่ 4-5 ชนิด ผสมกันไป แต่บางแปลงก็ปลูกเป็นบล็อกๆ ต้นไม้ที่ปลูกได้แก่ต้นกำลังเสือโคร่ง ซึ่งเมล็ดมีขนาดเล็กมากๆ ต้องใช้ความชำนาญพิเศษ ส่วนต้นนางพญาเสือโคร่งที่มีดอกสีชมพูสวยหวาน หรือเรียกกันว่าซากุระเมืองไทยนั้นเพาะกล้าได้ง่ายกว่า  ต้นสนสามใบยิ่งเพาะได้ไม่ยากนัก แม้ว่าเมล็ดจะเล็กก็ตาม ที่เห็นยอดแดงๆนั่นชื่อยมหินครับ พันธุ์ไม้ที่ปลูกส่วนใหญ่เป็นไม้ในถิ่นกำเนิดครับ"  

         

                                       หัวหน้าพอดี อินนุรักษ์ ขยัน-อดทน

                  "ผมเรียนจบจากโรงเรียนป่าไม้แพร่ รุ่น 33 ทำงานรับราชการมาหลายกอง แต่ชอบกองอนุรักษ์ต้นน้ำมากที่สุด ได้เข้ามาอยู่ที่หน่วยนี้ตั้งแต่ต้องเดินเท้าเข้ามาเมื่อปีพ.ศ.2543 รับผิดชอบพื้นที่ป่าต้นน้ำ 60,000 ไร่ เป็นผืนป่าเสื่อมโทรมที่คาบเกี่ยวสองลุ่มน้ำ  ปลูกป่าแบบฟื้นฟูระบบนิเวศน์เริ่มตั้งแต่ปีละ 3,000 ไร่ ๆละ 25 ต้น แล้วก็ลดจำนวนลงเรื่อยๆ 1,000 ไร่ 1,500 ไร่ เอาแน่นอนไม่ได้แล้วแต่จะจัดสรรมาให้ครับ"

       

ยอดดอยกาดชมวิวได้ 360 องศา(จำลอง บุญสอง)

                 "งานของผมเริ่มต้นที่การเลือกที่ตั้งหน่วย สร้างที่ทำการลำลอง หลังที่เห็นนี่แหละครับ บ้านพักคนงาน  ร้านสวัวสดิการอำนวยความสะดวกให้กับคนงานซึ่งอยู่บนดอยสูง และการคมนาคมยากมากๆ การคัดเลือกชนิดพันธุ์ไม้ที่จะศึกษาความเป็นไปได้ การเก็บเมล็ดไม้ การเพาะชำกล้าไม้ การขนย้ายกล้าไม้เตรียมปลูก การปักหมายหมายระยะปลูก การปลูกตามฤดูกาลที่เหมาะสม การแผ้วถางวัชพืช และการทำแนวกันไฟป่า และล้อมรั้วกันวัว"

        

                                    บ้านพัก.......น่ารัก                                  

                 "บ้านพักที่มีอยู่สองหลังนี้ เป็นบ้านที่สร้างเพื่อให้เพื่อนฝูง ผู้บังคับบัญชาที่เข้ามาตรวจเยี่ยมงาน ได้พักสะดวกสบายตามสมควร ส่วนดอกไม้ที่เห็นปลูกๆตกแต่งไว้นั้น ปลูกเพราะว่าผมชอบครับ สวยดี ผมอยู่ที่นี่มาจนถึงวันนี้ก็ 11 ปีย่าง  ครอบครัวผม เมียหนึ่งลูกสองครับ ซื้อบ้านอยู่ในจังหวัดน่านครับ แม่บ้านมีหน้าที่ดูแลลูกๆ ไปส่งลูกๆเรียนหนังสือ " 

       

                                เฟิร์นเลื้อยชนิดหนึ่งซึ่งเพิ่งเคยเห็น

                 ต้องยอมรับครับว่า หัวหน้าหน่วยคนนี้ตั้งใจทำงานทั้งงานสนามและงานตกแต่งที่ทำการให้ดูน่าอยู่ สวยงาม แม้จะอยู่ไกลแสนไกล ยากจะมีใครเข้ามาเห็น เรื่องอย่างนี้มันอยู่ที่ตัวคน หากไม่สนใจก็จะไม่ทำเอาเลย ยิ่งไกลปืนเที่ยงยิ่งไม่ทำกันเลยก็มี สิ่งที่เห็นกับตาคือสนามหญ้าหน้าที่ทำการตัดหญ้าเรียบกริบ มีต้นไม้ประดับปลูกอยู่ทั่วไป  มีเต็นท์กางให้ผู้มาเยือนอาศัยนอนค้างอ้างแรมได้ ห้องสุขาก็เป็นสัดส่วน เบื้องหน้าเห็นไกลลิบเป็นยอดดอยกาด

                 ที่เห็นได้รอบตัว 360 องศา อลังการ         

                 คืนนั้นพวกเรานอนพักค้างด้วยความสะดวกสบายตามควร อากาศที่เย็นราวๆ 13-14 องศาเซลเซียสช่วยให้นอนกันแต่หัวค่ำ (23 น.เศษๆ) ผู้หญิงนอนบนบ้านพักสองหลัง และที่สำนักงาน อีกส่วนหนึ่งนอนที่เต็นท์กลางสนามหญ้าหน้าหน่วย มีกองไฟสุมให้ไออุ่นอยู่ใกล้ๆ แสงไฟใช้เครื่องยนต์ปั่นเอง แต่แสงจันทร์ที่สาดส่องลงมานั้นเป็นแสงจันทร์นวลผ่องจากฟากฟ้า บรรยากาศสุดแสนโรแมนติก เว้นแต่เสียงกรนดังกระฉ่อนไปทุกห้องทุกเต็นท์ ก็เพลินดี

   

คณะกรรมการมูลนิธินำโดยประธานอุดม หิรัญพฤกษ์ ซวด ซวด

                 เวลา 04.25 น. เพื่อนๆสื่อจากกรุงเทพปลุกให้ตื่น ด้วยได้นัดกันแล้วว่าจะเดินทางไปตะลุยยอดอยกาด ชมผืนป่าและบรรยากาศ 360 องศา รถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อสองคันรอรับด้วยพนักงานขับแกร่งแต่เด็กๆอยู่ เจและเพื่อน  รถยนต์วิ่งไปด้วยความเร็ว 40-45 กม./ชม. พวกเรานั่งตัวโยนไปแล้วก็โยนมา รถพวกนี้โคลงยังกับเรือสำเภาโต้คลื่นในท้องทะเลลึก เพราะว่าโขยกไปบนทางที่ลุ่มๆดอนๆ การขับเคลื่อนด้วยสี่ล้อ ติดเกียร์สโลว์

                                               จุดจอดรถยนต์  เชิงเขา   

                   สองข้างทางมีทั้งป่าดงดิบและไร่ร้าง มีป่าปลูกใหม่กระจายไปทั่ว  ได้เห็นเฟิร์นชนิดหนึ่งแปลกตา มันเป็นเฟิร์นเลื้อยที่งดงามมาก ไม่รู้จักชื่อ เสียงนกร้องให้ได้ยินบ่อยครั้ง ดอกไม้ป่าแปลกตาหลายชนิด ที่รู้จักก็มี บางชนิดที่ไม่รู้จักน่าสนใจ เพียงแต่ว่าการเดินทางมาศึกษานั้น ไม่ง่ายอย่างที่หวัง ประกอบกับดอกไม้ก็โรยราไปแล้ว ถ้ามีเวลาน่าจะได้ถ่ายรูปพันธุ์ไม้ป่าแปลกๆ สวยๆ อีกหลายต้น                   

          

                                               คณะสื่อมวลชนกรุงเทพ

                    รถจอดที่เชิงเขา ยอดดอยกาดมองเห็นไม่ไกล มีทางเดินขึ้นไปได้ง่ายๆ เมื่อขึ้นไปถึงยอดดอยกาดแล้วลองหมุนรอบตัว ได้เห็นทิวเขาที่รายรอบตัว 360 องศาจริงๆตามที่เจ้าหน้าที่เล่าให้ฟัง วิสัยสื่อมวลชนคนทำข่าวอดใจไม่ไหว บันทึกภาพกันทีละมุม ทีละภาพ อย่างพินิจพิเคราะห์ แสงสีทองเริ่มจับขอบฟ้า ลมเย็นโชยมาอย่างต่อเนื่อง ไอเย็นกระทบใบหน้าและผิวกายนอกเครื่องนุ่งห่ม หมอกจางๆเริ่มรวมตัวตามหุบเขา แต่ด้วยแรงลมทำให้ทะเลหมอกไหลไปทั่ว

                 "ไม่เสียเที่ยวที่ได้มา เกินคุ้มจริงๆ" สื่อลงมติด้วยคำพูดที่หนักแน่นดังหินผา                   

        

                                          ยอดดอยกาด......ยามเช้าตรู่

เจ-ธีรภาพ พัฒนใหญ่ยิ่ง คนเมืองน่าน โชเฟอร์อ๊อปโรดที่นำเที่ยว

ภาพจาก จำลอง บุญสอง

                                 

                 

Tags : คืนป่าสู่แผ่นดิน ดอยกาด

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view