สิบสองปันนาหงส์ฟ้าพญามังกร
ตอน7. วัดหลวงไทลื้อเมือง
พุทธสถานอลังการเชิงพาณิชย์
โดยอึ้งเข่งสุง-เรื่อง//ธงชัย เปาอินทร์-ภาพ
วัดหลวงไทลื้อเมือง ตั้งอยู่บนพื้นที่ภูเขาสูงเนื้อที่ 1,000 ไร่ อันเป็นจุดสูงสุดของเขตพัฒนาหมู่บ้านชาวเมืองสิบสองปันนา(เมืองใหม่) โดยความเห็นชอบของเขตการปกครองตนเองชนเผ่าไทลื้อสิบสองปันนา(Xishuangbanna) เพื่อให้เป็นพุทธสถานที่ยิ่งใหญ่ที่สุด สามารถรองรับพระได้กว่า 1,000 รูป เข้ามาจำพรรษาและศึกษาพระธรรมวินัยตามแบบอย่างลัทธิหินยานฝ่ายเถรวาท
ประตูทางเข้าชั้นที่หนึ่ง
พื้นที่กว่า 1,000 ไร่นี้แบ่งออกเป็นสามส่วนคือ ส่วนพุทธาวาส พระสงฆ์องคเจ้าจำพรรษาจะหลบอยู่ในเขตป่าไม้อย่างสงบงาม ส่วนที่สองเป็นอาคารเรียนของวิทยาลัยสงฆ์ที่สั่งสอนพระธรรมวินัยให้กับพระและสามเณรจำนวนนับพันๆองค์ และส่วนที่สามเป็นพื้นที่เพื่อสร้างพุทธสถานต่างๆของวัดตามรูปแบบวัดหินยานในพุทธศาสนา
พื้นที่ส่วนหลังสุดนี้แหละครับที่สร้างเสียยิ่งใหญ่อลังการเหลือจะพรรณนา แบ่งพื้นที่จากตีนเขาเตี้ยสุดขึ้นไปเป็นชั้นๆ ถึง 3 ชั้น แต่ละชั้นมีสิ่งก่อสร้างและรูปลักษณ์ตามคติพุทธหลากหลายรูปแบบ รวมทั้งระบบการจัดการเพื่อการท่องเที่ยวในพุทธสถานแห่งนี้ด้วย อันเป็นจุดขายหนึ่งจากเรื่องของธรรมะ ศรัทธา และความเชื่อ
ศิลปะไทลื้องดงาม
จากโรงแรมในตัวเมืองสิบสองปันนา คณะของเราตัดสินใจเดินทางด้วยรถเมล์ประจำทาง เมืองเก่า-เมืองใหม่ กรุณาเตรียมเงินให้พอดี 4 หยวน เมื่อขึ้นรถเมล์แล้วต้องเอาเงินครบจำนวนหยอดใส่กล่องเงิน พนักงานขับรถจะมองดู เพราะว่าถ้าเงินขาดไปจะเป็นความผิดของเขาที่ต้องชดใช้ แต่พอผมขึ้นไปปุ๊บ เด็กหญิงคนหนึ่งลุกจากที่นั่งของเธอมาสะกิดให้ผมนั่งแทน โธ่นังหนูเอ๋ย ลุงยังไม่แก่เลย แต่ด้วยความหวังดีมีน้ำใจ ก็เลยหย่อนก้นนั่งตามกำลังศรัทธาของเธอ
"ขอบคุณๆ(เซียะๆ)" น้ำใจอย่างนี้เมืองไทยไม่มีแล้ว เล่นเอาผมน้ำตาคลอเลย
พระรามัญ โบสถ์แบบไทยพุทธ
ชั่วเวลา 25 นาทีรถเมล์ก็จอดหน้าวัด คณะของเราเดินตามก้นไกด์สาวจีนไทลื้อต้อยๆ เธอไปประสานจัดการเสียค่าเข้าชม เข้าตามแบบนักท่องเที่ยวที่มากับทัวร์ค่าเข้าถูกกว่าเข้าแบบวอล์คอิน ส่วนจะเสียเท่าไรไม่ได้สนใจจะถามเพราะอย่างไรเสียผมก็นิยมไปไหนไปกับบริษัททัวร์มากกว่าไปแบบแบกเป้ครับ
ศาลาขายสินค้าที่ระลึกหน้าลานจอดรถ
หน้าวัดมีลานจอดรถทัวร์กว้างขวางมาก มีศาลาสองหลังขายสินค้าของที่ระลึกและเครื่องดื่ม ตัวศาลาสร้างตามรูปลักษณฺศิลปะไทลื้อ ซึ่งมองดูเผินๆเหมือนทรงไทยประยุกติ์ เขตเก็บบัตรเข้าชมสร้างคล้ายประตูใหญ่อลังการมาก ด้านข้างๆเป็นที่ติดต่อเข้าชมและจ่ายค่าบัตร เมื่อก้าวพ้นพนักงานผ่านประตู มีรถยนต์ลากจูงเหมือนสวนสาธรณะทั่วไปที่มีพื้นที่กว้างๆจอดรออยู่
"พื้นที่วัดกว้างมาก สูงชันมาก ถ้าเดินจากชั้นหนึ่งไปชั้นสองและชั้นสาม จะเหนื่อยมากและใช้เวลามาก ควรนั่งรถขึ้นไปชั้นสามแล้วค่อยๆเดินลงมาชั้นสองและลงมาชั้นแรกจะดีกว่า"
ไกด์สาวเล่าแจ้ง พวกเราก็ว่าง่ายจะได้ไม่เหนื่อย ขึ้นรถลากจูงทันใด
รถแล่นขึ้เขาคดไปโค้งมาใต้ร่มเงาแมกไม้ ผ่านส่วนสังฆาวาส แล้วเลยวิทยาลัยสงฆ์ พอจอดกึกที่หน้าชั้นที่สาม ก็ร้องโอ้โฮ
พระพุทธรูปปางขอฝนองค์สูงที่สุดในโลก
เบื้องหน้าที่เห็นเป็นพระพุทธรูปปางขอฝนประทับยืนตระหง่านอยู่บนขุนเขา เหนือวิหารหลังใหญ่ พระพุทธรูปองค์นี้สูงถึง 49.90 เมตร เป็นพระปางขอฝนที่สูงและใหญ่ที่สุดในโลก เสียดายที่ช่วงเวลาที่เราไปนั้นเป็นเวลาบ่ายคล้อย ตะวันได้เบี่ยงเบนไปทางทิศตะวันตกหลังองค์พระเสียแล้ว ผมจึงได้ภาพเป็นเงาดำทะมึนทึน เที่ยววัดนี้ต้องมาช่วงเช้าๆเพราะว่าองค์พระหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ภาพจะมีสีสันสวยงามมากกว่า
ร้านเครื่องดื่มนั่งสบายๆ
สองฝั่งลานจอดรถชั้นสามมีร้านขายดอกไม้ธูปเทียนหลังหนึ่ง อีกหลังหนึ่งขายเครื่องดื่ม มีโต๊ะเก้าอี้ให้นั่งวพักเหนื่อยได้ ด้านหน้าเป็นกระท่อมหลังหนึ่ง ภายในมีชุดไทลื้อให้นักท่องเที่ยวเช่าสวมใส่เพื่อถ่ายรูปด้วย ในกลุ่มพวกเราไม่มีใครไปทดลองสวมใส่เลย ทุกคนจึงเดินเข้าไปในวิหารหลังใหญ่ แหงนมองทวารบาลเขี้ยวโง้ง สีสันสวยแปลกตากว่ายักษ์ทวารบาลวัดบ้านเรา
พระพุทธรูปปางสมาธิเพชรทรงเครื่อง
ภายในวิหารมีพระพุทธรูปงดงามมาก มีถึง 3 องค์ ประดิษฐานไว้เป็นจุดๆ ผนังวิหารเจาะเป็นช่องบรรจุพระปางขอฝนไว้ทุกช่อง ทาด้วยสีแดงสดใสตัดกับองค์พระสีเหลืองอร่าม องค์แรกประดิษฐานไว้ในส่วนที่มีสีสันสวยงามแปลกแตกต่างจากประเทศไทย เป็นพระทรงเครื่องปางสมาธิเพชร สีขาวผ่องอร่ามเรืองด้วยเครื่องทรงสีทอง
พระพุทธรูปทรงเครื่อง ทวารบาลสวยดี
องค์ต่อมาเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัย และองค์ที่สามพระพุทธรูปปางมารวิชัยแต่ไม่ทรงเครื่อง เป็นรูปเคารพที่ตั้งใจสร้างด้วยความปราณีตบรรจง มีพนักงานของวัดนั่งอยู่เคาเตอร์จำหน่ายเครื่องบูชาเช่นเดียวกับวัดบ้านเราที่เมืองไทย วัตถุมงคล ไม่รู้ว่าใครเลียนแบบใคร เพราะว่าไปที่นี่เพียงแห่งเดียว จึงไม่รู้ว่า วัดอื่นๆในสิบสองปันนามีวัตถุมงคลหรือไม่
ด้านหน้าลานชั้นสามมีบันไดลงไปทีละขั้น สองข้างไม่ใช่นาคราชตวัดหาง แต่เป็นสามเณรปางอุ้มบาตรยืนตามขั้นบันได แปลกตาไปอีกแบบหนึ่ง ระหว่างกลางทางสองข้างจะมีวิหารของแต่ละพุทธศาสนา เช่นสยามวงศ์ ลังกาวงศ์ รามัญวงศ์ และคันธารราฎ ถ้าต้องกราบไหว้ทีละวิหารๆ ก็ใช้เวลามาก ผมตัดสินใจให้ช่างภาพเดินถ่ายรูปมาจนครบ
ลงมาถึงลานชั้นที่สอง เห็นวิหารหลวงหลังใหญ่ สลักลายตามเสาและผนังสีเหลืองทองอร่าม ลมเย็นพัดตึง ในวิหารโปร่งโล่งเหมือนเป็นศาลาการเปรียญ มีพระประธานปางมารวิชัยองค์โต ศิลปะสลักเสลาและเขียนต่างๆเป็นแบบอย่างของไทลื้อ ซึ่งคงรักษาเอกลักษณ์ เป็นความภูมิใจของชนเผ่า น่าปลื้มใจที่เห็นชาวไทลื้อนิยมอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมประเพณี(การแต่งตัวฯลฯ)และวิถีชีวิตเอาไว้ได้อย่างมั่นคง
ต้องยอมรับว่า วัดหลวงไทลื้อเมืองยิ่งใหญ่อลังการ สมเจตนารมณ์ และวัดนี้จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของสิบสองปันนาตลอดไป ไม่ไปไม่ได้เสียแล้ว
วัดนี้ เขตปกครองตนเองสิบสองปันนาได้ตัดสินใจให้สร้างด้วยการออกอนุญาตเป็นแบบสัมปทาน 50 ปี ให้ภาคเอกชนลงทุนสร้างด้วยเม็ดเงินถึง 350 ล้านหยวน แล้วเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการท่องเที่ยว 50 ปี บริษัทที่ได้รับสัมปทานคือ บริษัทพัฒนาการท่องเที่ยวหยวนห้าวจำกัด ส่วนพระเณรจำพรรษาได้ฟรี มีกิจกรรมตามวิถีพุทธศาสนาทางหินยานได้ทุกกระบวนการ ได้มีการชุมนุมพระคัมภีร์อักษรธรรมใบลานเป็นครั้งแรกที่วัดนี้ และได้มีการชำระจนครบถ้วนที่สุด นอกจากนี้ยังได้มีการพิมพ์เป็นอักษรไทลื้อเก่า อักษรไทลื้อใหม่ ภาษาจีนกลาง และภาษาอังกฤษ
ลวดลายที่จารและปั้นปูนไว้ไทลื้อชัดๆ
เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา ถือว่าเป็นดินแดนแห่งบวรพุทธศาสนาโดยแท้ ทั้งนี้ดูได้จากว่าทั้งเขตมีหมู่บ้านทั้งหมด 600 หมู่บ้าน แต่มีวัดมากถึง 577 วัด เจดีย์อีก 215 องค์ ทุกวันพระชาวไทลื้อนิยมไปบำเพ็ญเพียรทางธรรมที่วัดแล้วก็จะนอนอยู่ที่วัดคล้ายๆวัดในประเทศไทยสมัยก่อนตอนที่ผมยังเด็กๆ ก็ได้เคยตามแม่ไปนอนถือศีลอยู่ด้วยเช่นกัน
พระพุทธรูปแบบคันธารราฎ ทวารบาลเชิงบันได
ส่วนข้อกังขาที่ว่า ลัทธิหินยานแตกต่างจากลัทธิมหายานอย่างไร และแต่ละลัทธิมีประเทศใดบ้างที่เจริญก้าวหน้านั้น ต้องขอตอบว่า
ความหมายของลัทธิหินยานฝ่ายเถรวาท พระสงฆ์ประพฤติด้วยการระงับดับกิเลสตนเองให้เป็นเยี่ยงอย่างแล้วจึงชักจูงคนทั้งหลายให้ประพฤติตาม ถือกันว่าเป็นแนวทางที่คับแคบ แต่ลัทธิหินยานกลับได้รับความนิยมในแถบพม่า ไทย ลังกา ลาว เขมร
พระประธานในวิหารหลวง
ส่วนความหมายของลัทธิมหายาน พระสงฆ์มุ่งเกลี้ยกล่อมชักจูงคนให้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเสียก่อน แล้วจึงสั่งสอนให้ระงับดับกิเลสต่อไปในภายหลัง ลัทธิมหายานรุ่งเรื่องในประเทศเอเซียกลาง ทิเบต มองโกเลีย จีน ญี่ปุ่นและญวน
แต่ทั้งลัทธิหินยานและลัทธิมหายาน ใช้พระธรรมวินัยตามพระไตรปิฏกฉบับเดียวกันทุก
ประการ
วิหารหลวงชั้นที่หนึ่ง
ปล. คัดลอกมาจากคมชัดลึก 21-04-2011 ไตรเทพ ไกรงู ในส่วนเฉพาะตำนานพระพุทธรูปปางขอฝน ความว่า
สมัยหนึ่งนครสาวัตถี แคว้นโกศล เกิดความแห้งแล้ง ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล พืชผลได้รับความเสียหาย ประชาชนขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค สระโบกขรณี (สระบัว) ภายในพระเชตวันมหาวิหารก็แห้งขอดติดก้นสระ พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพระประสงค์จะอนุเคราะห์แก่มหาชน พระพุทธองค์ทรงผ้าวัสสิกสาฎก (ผ้าอาบน้ำฝน) แล้วเสด็จไปประทับ ณ บันไดสระ ยกพระหัตถ์ขวาขึ้นกวักเรียกฝน พระหัตถ์ซ้ายรองรับน้ำฝน ทันใดนั้นบังเกิดมหาเมฆตั้งเค้าขึ้นพร้อมกันในทุกทิศานุทิศ ด้วยพุทธานุภาพและพระมหากรุณาต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย ฝนได้ตกลงมาเป็นอัศจรรย์